นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
ANTI-CORRUPTION POLICY

  • บทนำ / คำนิยาม / นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
  • หน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
  • แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
  • แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางการเมือง
  • แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุน
  • แนวปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับของขวัญ การบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
  • การพิจารณาโทษหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
  • มาตรการในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
  • กลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
  • การนำมาตรการไปปฏิบัติโดย บริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  • การเผยแพร่นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
  • การควบคุมภายในและการรายงาน
  • การจัดเก็บข้อมูล
  • การบริหารทรัพยากรบุคคล
  • การอบรมและการสื่อสาร
  • หมายเหตุ : มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป

    บทนำ / คำนิยาม / นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

    บทนำ

    บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) (“ บริษัท”) มีอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ตามแนวทางการประกอบกิจการที่ดี บริษัทขอประกาศเจตนารมย์ในการยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และได้เข้าร่วมเป็น “ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ บริษัทจึงมีนโยบาย กำหนดความรับผิดชอบ แนวทางปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่นกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท โดยยึดถือตามหลักการทศพิธราชธรรมขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ประกอบด้วย 10 แนวทางในการดำเนินชีวิต อันได้แก่ 1. การให้ทาน 2. การมีศีล 3. การบริจาค 4. ความซื่อตรง 5. ความอ่อนโยน 6. ความเพียร 7. ความไม่โกรธ 8. ความไม่เบียดเบียน 9. ความอดทน และ 10.ความเที่ยงธรรม เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อให้การตัดสินใจรวมถึงการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้รับการพิจารณาและปฏิบัติอย่างรอบคอบ บริษัทจึงได้จัดทำ “ นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ” เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน เพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติ และกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด

    คำนิยาม

    การคอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การติดสินบนในทุกรูปแบบ และ/หรือการใช้ข้อมูลหรืออำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่มิควรได้ โดยการเสนอให้ สัญญา มอบให้ ให้คำมั่น เรียกร้อง ให้หรือรับ ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าที่ให้กระทำได้

    นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

    บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ขอประกาศว่า บริษัทไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่นใดๆ โดยให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมและรายการต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งหมดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัท โดยที่ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกคนต้องให้การยอมรับต่อมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นฉบับนี้ และต้องไม่เรียกร้อง ดำเนินการ หรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อองค์กร ตนเอง ครอบครัว โดยครอบคลุมถึงธุรกิจในทุกประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย

    หน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น

    1.
    คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและนำไปปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
    2.
    คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการสอบทานระบบทางบัญชีและการเงิน ระบบการควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายใน เพื่อให้มั่นใจว่า มีความรัดกุมเหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
    3.
    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีหน้าที่และรับผิดชอบในการนำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติ โดยกำหนดให้มีระบบงาน และให้การส่งเสริม รวมถึงสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นเพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบงานและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
    4.
    กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท มีหน้าที่และรับผิดชอบในการปฏิบัติและสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงการแจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูล เพื่อให้นโยบายดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ
    5.
    ฝ่ายกำกับและตรวจสอบ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง มีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
    6.
    ในประกาศฉบับนี้ การแจ้งเหตุหรือการรายงานตามลำดับการบังคับบัญชาหรือผู้บังคับบัญชา ให้ยึดถือลำดับชั้นการบังคับบัญชาตามแผนผังโครงสร้างองค์กรของบริษัท กรณีกรรมการ ให้แจ้งแก่ ประธานกรรมการ และกรณีประธานกรรมการ ให้แจ้งแก่คณะกรรมการบริษัท ตามลำดับ

    แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น

    1.
    กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นและจรรยาบรรณของบริษัท โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
    2.
    กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ต้องไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ รวมทั้งต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณบริษัทผ่านช่องทางต่างๆที่กำหนดไว้
    3.
    บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น หรือแจ้งเรื่องการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานคอร์รัปชั่น ตามที่บริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานที่แจ้งข้อมูลหรือให้เบาะแสเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น
    4.
    บริษัทจะเผยแพร่ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัท ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
    5.
    บริษัทต้องสื่อสารมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น รวมถึงแจ้งช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนให้บุคคลภายในบริษัททราบ โดยผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น หลักสูตรการปฐมนิเทศน์กรรมการและพนักงาน การสัมมนาและการอบรมของบริษัท เป็นต้น เพื่อนำมาตรการไปปฏิบัติอย่างจริงจัง และเพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลากรของบริษัทมีความเข้าใจ เห็นชอบ และนำมาตรการไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
    6.
    บริษัทต้องสื่อสารมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น รวมถึงแจ้งช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนไปยังสาธารณชน บริษัยย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจควบคุม (ถ้ามี) ตัวแทนทางธุรกิจ คู่ค้าทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เวปไซด์ของบริษัท รายงานประจำปี เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้าใจและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
    7.
    พนักงานต้องลงนามรับทราบนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อยืนยันว่าพนักงานทุกคนรับทราบ เข้าใจ และพร้อมจะนำหลักการในนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานด้วยความเคร่งครัดทั้งองค์กร
    8.
    บริษัทจัดให้มีระเบียบการจ่ายเงินโดยมีการกำหนดอำนาจอนุมัติ และวงเงินในการอนุมัติ ซึ่งการเบิกจ่ายและการจ่ายเงินที่นอกเหนือจากการประกอบธุรกิจปกติของบริษัท ต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนประกอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินที่ไม่เหมาะสม รวมถึงไม่ก่อให้เกิดการช่วยเหลือทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม และเพื่อให้มั่นใจว่าการเบิกจ่ายเพื่อการบริจาคเพื่อการกุศลใดๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการคอร์รัปชั่น และการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อธุรกิจไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการคอร์รัปชั่น
    9.
    กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไม่พึงรับหรือให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกินความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่ทำธุรกิจกับบริษัท หากได้รับของขวัญที่มีมูลค่าเกินปกติวิสัยในโอกาสตามประเพณีนิยม ให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานควรปฏิเสธหรือไม่รับของขวัญดังกล่าว และต้องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อทราบทันที
    10.
    บริษัทต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันคอร์รัปชั่น โดยกระบวนการดังกล่าวครอบคลุมด้านงานขาย การตลาด การจัดซื้อ การทำสัญญา การบริหารทรัพยากรบุคคล การบัญชีและการเงิน การเก็บบันทึกข้อมูล การปฏิบัติงาน รวมถึงกระบวนการอื่นภายในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยต้องมีการดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการตรวจสอบจากฝ่ายกำกับและตรวจสอบภายในดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
    11.
    นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้ ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคคลากร การให้ผลตอบแทน และการเลื่อนตำแหน่ง การอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงาน
    12.
    บริษัทต้องจัดให้มีมาตรการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น โดยระบุเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงจากการคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ การประเมินระดับความเสี่ยงทั้งด้านโอกาสในการเกิดความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าของการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ โดยจะมีการทบทวนมาตรการจัดการความเสี่ยงให้มีความเหมาะสมที่จะป้องกันความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
    13.
    บริษัทต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดขึ้นช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ รวมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติงานภายในบริษัทให้เป็นไปตามข้อกำหนด กฎระเบียบ
    14.
    บริษัทต้องจัดให้มาตรการปฏิบัตินี้ได้รับการจัดทำเป็นเอกสารตามหลักการควบคุมภายในเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายและระเบียบของบริษัท
    15.
    ฝ่ายกำกับและตรวจสอบต้องกำหนดเป็นวาระการประชุมประจำปี เพื่อให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารรายงานผลการตรวจสอบตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นประจำปีต่อคณะกรรมการตรวจสอบและนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป

    แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางการเมือง

    การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การให้การสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองทั้งที่เป็นตันเงินหรือมิใช่ตัวเงิน การสนับสนุนที่มิใช่ตัวเงินจะรวมถึงการให้ยืมบริจาคอุปกรณ์ การให้บริการด้านเทคโนโลยีโดยไม่คิดค่าบริการ รวมทั้งการโฆษณาส่งเสริมหรือสนับสนุนพรรคการเมือง และ/หรือการส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในนามบริษัท โดยบริษัทมีแนวปฏิบัติเบื้องต้นเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางการเมือง ดังนี้

    1.
    บริษัทต้องไม่สนับสนุนทางการเงินหรือสิ่งของให้แก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองใดๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางการเมืองตามความหมายของคำนิยามของการช่วยเหลือทางการเมืองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจกับบริษัทในทางมิชอบ
    2.
    กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มีสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่อ้างความเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน หรือนำทรัพย์สิน อุปกรณ์ เครื่องมือใดๆ ของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการใดๆ ในทางการเมือง หากมีการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง จะต้องพึงระมัดระวังไม่ให้การดำเนินการใดๆ ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นการดำเนินการโดย หรือ ในนามบริษัท
    3.
    บริษัทต้องแจ้งให้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รับทราบว่า บริษัทจะไม่เข้าร่วมหรือให้ความช่วยเหลือในกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม และเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจกับบริษัทในทางมิชอบ

    แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุน

    การบริจาคเพื่อการกุศล ทั้งในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือในรูปแบบอื่นๆ เช่น การให้ความรู้หรือการสละเวลา เป็นต้น สามารถกระทำได้โดยอาจเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมตอบแทนสังคม ทั้งนี้จะต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนอย่างเคร่งครัด

    เงินสนับสนุนเพื่อการประชาสัมพันธ์ทางธุรกิจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท อาจกระทำได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัท ทั้งนี้ อาจมีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสำหรับการบริการหรือผลประโยชน์ที่ยากต่อการวัดผลและติดตาม ดังนั้น จะต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนอย่างเคร่งครัด

    การบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนอาจทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินโดยไม่มีผลตอบแทนที่มีตัวตน และอาจจะใช้เป็นข้ออ้างหรือเส้นทางสำหรับการคอร์รัปชั่น และเพื่อไม่ให้การบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนมีวัตถุแอบแฝง ดังนั้น จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับรวมทั้งข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ บริษัท มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุน ดังนี้

    1.
    กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทที่ประสงค์จะให้บริษัทเข้าร่วมบริจาคเพื่อการกุศล หรือเงินสนับสนุน จะต้องจัดทำเอกสารคำขออนุมัติการบริจาคเพื่อการกุศลหรือเงินสนับสนุน โดยระบุชื่อผู้บริจาค และ/หรือผู้รับการสนับสนุน และวัตถุประสงค์ของการบริจากคหรือสนับสนุน พร้อมแนบเอกสารประกอบ เสนอขออนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติของบริษัท
    2.
    ผู้ประสงค์จะให้บริษัทเข้าร่วมบริจาคเพื่อการกุศล หรือเงินสนับสนุน มีหน้าที่ตรวจสอบองค์กรการกุศล มูลนิธิต่างๆ บริษัท ห้างร้านที่บริษัทจะเข้าร่วมในการบริจาคเงิน หรือเงินสนับสนุน ก่อนนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติ ดังนี้

    2.1 ต้องมั่นใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนจะไม่ถูกนำไปใช้เป็นวิธีการหลีกเลี่ยง ในการให้สินบน ตลอดจนต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับ

    2.2 ต้องพิสูจน์ได้ว่ามีการจัดกิจกรรมตามโครงการเพื่อการกุศลดังกล่าวจริงและมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้วัตถุประสงค์ของโครงการประสบผลสำเร็จ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงหรือเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

    2.3 ต้องพิสูจน์ได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นไปเพื่อการกุศล และเงินสนับสนุนโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับบุคคลใด หรือหน่วยงานใด ยกเว้น การประกาศเกียรติคุณตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป
    3.
    หากบริษัทตรวจพบหรือได้รับแจ้งข้อมูลจากทางการว่า องค์กร มูลนิธิ บริษัทห้างร้าน ที่บริษัทบริจาค หรือให้เงินสนับสนุนมีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น บริษัทจะต้องระงับการบริจาค หรือการสนับสนุนกิจกรรมให้องค์กรหรือบริษัทนั้นๆ ทันทีที่รับทราบ
    4.
    การติดตามและสอบทานพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศลหรือการให้เงินสนับสนุน ไม่ได้กระทำเพื่อการคอร์รัปชั่นถือ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำกับและตรวจสอบ

    แนวปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับของขวัญ การบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

    การดำเนินการเกี่ยวกับของขวัญ การบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่เหมาะสม อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น และเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต โดยการจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับกรรมการ ผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทเพื่อเป็นการติดสินบน นอกจากนี้ การที่บริษัทให้ของขวัญ การบริการต้อนรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่เหมาะสมกับลูกค้า อาจเป็นการปฏิบัติที่ผิดนโยบายของลูกค้าหรือคู่ค้าบางราย และเป็นเหตุให้บริษัทต้องเสียโอกาสทางธุรกิจไป

    บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจในอันที่จะนำมา ซึ่งความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบริษัท และในขณะเดียวกันเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัทมีแนวปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับของขวัญ การบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังนี้

    1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท สามารถรับหรือให้ของขวัญ การบริการต้อนรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การเลี้ยงรับรอง หรือรับการเลี้ยงรับรองจากบุคคลอื่น เป็นต้น ได้ในโอกาสต่างๆ ตามธรรมเนียม ประเพณี หรือตามมารยาทสังคมที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป โดยจะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และไม่เป็นการปิดบังซ่อนเร้น โดยการรับหรือการให้ดังกล่าวนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบใดๆ ผ่านการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนหรือแอบแฝง เพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วยเหลือหรือผลประโยชน์ตอบแทน หรือทำให้เกิดการยินยอมผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจ และจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในการให้ของขวัญของบริษัทนั้น จะต้องให้ในนามบริษัทไม่ใช่ในนามส่วนตัว โดยอาจจัดทำเป็นของขวัญที่มีตราสัญลักษณ์ของบริษัท หรือติดนามบัตรที่มีตราของบริษัท ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การให้ของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน หรือสงกรานต์ เป็นต้น โดยจะต้องไม่อยู่ในรูปเงินสดหรือสิ่งเทียบเท่าเงินสด เช่น เช็ค บัตรของขวัญ หรือบัตรกำนัล เป็นต้น ยกเว้นเป็นการให้ในรูปของการส่งเสริมการขาย ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์ไว้ชัดเจน และปฏิบัติในแนวทางเดียวกันกับทุกคน

    2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัทจะต้องไม่เรียกร้องหรือรับของขวัญ การบริการต้อนรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นจากลูกค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทไม่ว่ากรณีใดอันจะทำให้มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความลำเอียง หรือลำบากใจ หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์

    3. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัท ต้องไม่รับของขวัญหรือค่าตอบแทนใดๆ ที่เกินสมควรอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เช่น ในการประกวดราคา จะต้องไม่รับของขวัญ หรือค่าบริการต้อนรับจากบริษัทที่เข้าร่วมประกวดราคาหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นต้น

    4. การรับของขวัญ หรือค่าบริการ หรือผลประโยชน์อื่นที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท หรือของขวัญที่เป็นเงินสด หรือเทียบเท่าเงินสด เช่น บัตรของขวัญ บัตรกำนัล เป็นต้น เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธการรับของขวัญ หรือผลประโยชน์ดังกล่าวในขณะนั้น เช่น ในการประชุมหารือกับลูกค้า เป็นต้น ผู้รับอาจรับของขวัญหรือผลประโยชน์ไว้ก่อน โดยจะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาทันที ทั้งนี้ บริษัทจะพิจารณานำสิ่งของหรือของขวัญที่ได้รับไปบริจาคแก่สาธารณกุศลเพื่อส่วนรวมต่อไปตามความเหมาะสม

    5. การให้และรับผลประโยชน์อื่น เช่น การเลี้ยงสังสรรค์รับรอง จะต้องมั่นใจได้ว่าการรับรองนั้น มิได้มีลักษณะเป็นการใช้จ่ายเงินมากเกินสมควรหรือกระทำบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดข้อผูกมัดกับผู้ที่จัดการสังสรรค์รับรองนั้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

    6. บริษัทจะประชาสัมพันธ์ให้กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานบริษัททราบถึงแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับของขวัญ การบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบริษัทผ่านการประชุมประจำปีและผ่านระบบการสื่อสารอื่นๆที่บริษัทมีอยู่

    7. บริษัทจะประชาสัมพันธ์หรือแจ้งให้ลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัททราบ ถึงถึงนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับของขวัญ การบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบริษัทผ่านเอกสารแนะนำบริษัท

    การพิจารณาโทษหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

    1. หากกรรมการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ บริษัทจะตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบสวนให้ประกอบด้วยกรรมการอิสระทั้งหมดของบริษัท ในกรณีที่การพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงในคราวใดมีกรรมการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้เป็นกรรมการอิสระ ห้ามกรรมการอิสระท่านนั้นเข้าเป็นคณะกรรมการสอบสวนในคราวดังกล่าว ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ากรรมการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษ โดยพิจารณาจากหลักฐานข้อเท็จจริง และสถานการณ์แวดล้อมตามความเหมาะสมในแต่ละกรณี และให้รายงานผลการสอบสวนรวมถึงการพิจารณาโทษให้คณะกรรมการบริษัท (โดยยกเว้นกรรมการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น) พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ หากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ให้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

    2. หากผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ จะมีโทษทางวินัย ซึ่งวิธีการลงโทษจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และสถานการณ์แวดล้อม ทั้งนี้ หากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ให้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดรวมถึงการพิจารณาเลิกจ้างด้วย ทั้งนี้ บริษัทไม่มีนโยบายลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม

    3. บริษัทใช้ระบบสื่อสารภายในองค์กรทุกระบบเพื่อประชาสัมพันธ์บทลงโทษ หากมีการไม่ปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงการสร้างการรับรู้อย่างชัดเจนถึงนโยบายการไม่มีผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น แม้การกระทำดังกล่าวจะทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ.

    4. บริษัทมีการสร้างการรับรู้ให้เกิดกับพนักงานทั่วไป ถึงการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นของพนักงานคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน เช่น การประกาศชมเชย หรือให้รางวัล เป็นต้น

    มาตรการในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

    บริษัทได้จัดให้มีมาตรการในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนการกระทำผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ หรือการมีพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลในองค์กร รวมทั้งพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียอื่น การกระทำดังกล่าวรวมถึงรายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง หรือระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง และบริษัทต้องมีกลไกในการคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลผลประโยชน์ของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

    เรื่องที่รับแจ้งเบาะแสร้องเรียน

    - กระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบบริษัท การทุจริตหรือการทำผิดจรรยาบรรณของพนักงาน และกรรมการ

    - ความผิดปกติของรายงานทางการเงิน

    - ระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง

    - เรื่องที่มีผลกระทบต่อประโยชน์บริษัท

    ช่องทางแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

    บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถติดต่อสื่อสารกับคณะกรรมการบริษัทและจะคุ้มครองสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียที่แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนประเด็นต่างๆ โดยมีช่องทางการติดต่อสื่อสารโดยผ่านกรรมการตรวจสอบของบริษัท เพื่อดำเนินการตามกระบวนการที่บริษัทกำหนดและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ช่องทางติดต่อมีดังนี้

    1. ทางไปรษณีย์ โดยส่งมาที่

    ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ

    บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)

    เลขที่ 46/7 อาคารรุ่งโรจน์ธนกุล ชั้น 11,12 ถ.รัชดาภิเษก

    แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

    2. ทางอีเมล์ โดยส่งมาที่

    Compliance@aecs.com

    กลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส

    เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน บริษัทให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูล การแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนเป็นความลับ และได้กำหนดขั้นตอนการรับเรื่องและการสอบสวนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจะรับรู้เพียงเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบหมายและเกี่ยวข้องเท่านั้น หากข้อมูลความลับดังกล่าวถูกเปิดเผย บริษัทจะติดตามสอบสวนหาบุคคลที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และมีบทลงโทษผู้ที่กระทำการดังกล่าว

    นอกจากนี้ถือเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยงานของผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนทุกคนในการใช้ดุลยพินิจสั่งการที่สมควรเพื่อคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนสอบสวนมิให้ต้องรับภยันตราย และความเดือดร้อน หรือความไม่ชอบธรรมอันเนื่องมาจากการแจ้งเบาะแส การร้องเรียน การเป็นพยาน หรือการให้ข้อมูล

    ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามนโยบายการคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานที่แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับและจรรยาบรรณบริษัท

    การนำมาตรการไปปฏิบัติโดย บริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

    1. บริษัทจะแจ้งและสนับสนุนให้บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม (ถ้ามี) นำมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติ

    2. ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร หรือ พนักงาน จ้างตัวแทนหรือตัวกลางทางธุรกิจใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำการคอร์รัปชั่น

    3. บริษัทจะจัดให้มีการจัดซื้อสินค้าและบริการด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใส รวมทั้งจะดำเนินการประเมินเพื่อคัดเลือกผู้ขาย ผู้ให้บริการ รวมถึงผู้รับเหมาตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ บริษัทจะแจ้งให้ผู้ขาย ผู้ให้บริการ รวมถึงผู้รับเหมารับทราบนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นของบริษัทฉบับนี้

    4. บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกการจัดซื้อและว่าจ้าง หากพบว่าผู้ขาย ผู้ให้บริการ รวมถึงผู้รับเหมากระทำการคอร์รัปชั่นหรือให้สินบน

    การเผยแพร่นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

    1. บริษัทจะติดประกาศนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นในสถานที่เด่นชัดเพื่อให้ทุกคนในองค์กรทราบ

    2. บริษัทจะเผยแพร่นโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น เวปไซด์ของบริษัท หรือแผ่นพับ เป็นต้น เพื่อให้สาธารณชนทราบ

    3. บริษัทสื่อสารนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นและบทลงโทษ หากไม่ปฏิบัติตาม รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนภายในบริษัทผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น หลักสูตรปฐมนิเทศน์พนักงานใหม่ การอบรมสัมนาประจำปี การประชุมคณะกรรมการบริษัท เป็นต้น เพื่อให้มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง และเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีทรัพยากรและบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอต่อการนำมาตรการปฏิบัติไปใช้

    การควบคุมภายในและการรายงาน

    1. บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพรวมถึงเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบของทางการที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงทางด้านการคอร์รัปชั่น จึงมีระบบการตรวจสอบภายในเพื่อให้เกิดความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่า ระบบการควบคุมภายในที่มีอยู่สามารถช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ได้

    2. บริษัทกำหนดให้ฝ่ายกำกับและตรวจสอบจัดทำแผนงานการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยแผนการตรวจสอบจะผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบ โดยจะมีการพิจารณาแผนงานตามความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น

    3. บริษัทจะรักษาระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิผลเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งครอบคลุมถึงการถ่วงดุลและการตรวจสอบระหว่างกันด้านบัญชีและการเงิน การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงกระบวนการทางธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้อง

    4. บริษัทกำหนดขั้นตอนการรายงานผลการตรวจสอบ และการรายงานประเด็นเร่งด่วนต่างๆ ดังนี้

    4.1 ฝ่ายกำกับและตรวจสอบจะต้องรายงานผลการตรวจสอบและประเด็นที่พบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และแจ้งคู่ขนานกับต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

    4.2 หลังจากรายงานผลการตรวจสอบ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบจะหารือผลการควบคุมภายในกับผู้บริหารของฝ่ายงาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานกรรมการตรวจสอบ เพื่อดำเนินการหาแนวทางควบคุมภายในที่เหมาะสม

    4.3 หากพบว่ามีประเด็นเร่งด่วน ฝ่ายกำกับและตรวจสอบจะแจ้งตรงไปยังประธานกรรมการตรวจสอบ ทันที

    4.4 คณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้ทำหน้าที่รายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป

    การจัดเก็บข้อมูล

    1. บริษัทมีนโยบายที่จะปฏิบัติตามมาตรฐาน หลักการ รวมทั้งกฎหมายที่บังคับใช้เกี่ยวกับการรายงานข้อมูลทางบัญชีและการเงิน

    2. ค่าใช้จ่ายทุกประเภทต้องมีเอกสารประกอบ มีการอนุมัติตามอำนาจอนุมัติ รวมทั้งการจัดเก็บและรักษาข้อมูลของบริษัทจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

    3. บริษัทไม่อนุญาตให้มีการบันทึกข้อมูลที่เป็นเท็จ ผิดหลักการ ไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกต้อง หรือทำการตกแต่งบัญชี รวมทั้งจะต้องไม่มีบัญชีนอกงบการเงินเพื่อใช้สนับสนุนหรือปกปิดการจ่ายเงินที่ไม่เหมาะสม

    การบริหารทรัพยากรบุคคล

    นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหา หรือการคัดเลือกบุคคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน และการให้ผลตอบแทน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารทำความเข้าใจ กับพนักงาน ที่อยู่ในความรับผิดชอบและต้องควบคุมดูแลปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

    1. การจ้างงาน บริษัทได้กำหนดประเภทและคุณสมบัติของพนักงานในการรับเข้าทำงาน โดยผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดจะต้องไม่เคยมีประวัติการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้ โดยการคอร์รัปชั่นไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ ทั้งนี้ โดยมีขั้นตอนในการพิจารณาบุคคลเข้าทำงาน ดังนี้

    - ให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครพร้อมแนบหลักฐานตามที่บริษัทกำหนดที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล

    - ฝ่ายทรัพยากรบุคคลพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น และร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานที่ต้องการรับพนักงานเข้าทำงานทดสอบความรู้ ความสามารถตามที่เห็นสมควร

    - เมื่อบริษัทได้จัดทำสัญญาจ้างบุคคลใดให้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใด ถือว่าผู้นั้นเป็นพนักงานบริษัท ได้รับค่าจ้างตามที่กำหนดในสัญญาจ้าง หรือทะเบียนลูกจ้าง โดยกำหนดอัตราจ้างเป็นไปตามความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และสภาพการแข่งขันในตลาดแรงงาน

    2. การประเมินผลการปฏิบัติงาน บริษัทจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็น 2 ระยะ ดังนี้

    - การประเมินผลการปฏิบัติงานในช่วงทดลองงาน โดยพนักงานเริ่มงานใหม่จะต้องปฏิบัติงานในช่วงทดลองงานไม่เกิน 120 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มงาน

    - การประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงเป้าหมายในการทำงานและการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงการประเมินพฤติกรรมในการทำงาน โดยเฉพาะพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้ โดยการคอร์รัปชั่นไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด

    การอบรมและการสื่อสาร

    1. คณะกรรมการบริษัทบริษัทจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ให้แก่กรรมการทุกท่านรับทราบ รวมทั้งจะมีการปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่เกี่ยวกับเรื่องต่อต้านการคอร์รัปชั่น

    2. พนักงาน

    - พนักงานใหม่ พนักงานใหม่ทุกคนจะได้รับสำเนานโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และได้รับการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวในการปฐมนิเทศพนักงานใหม่

    - พนักงานปัจจุบัน พนักงานทุกคนจะต้องอ่านและศึกษาและลงนามรับทราบนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับทราบและเข้าใจถึงนโยบายของบริษัทในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ ยังสามารถศึกษานโยบายรวมทั้งข้อมูลล่าสุดที่ปรับปรุงแก้ไขได้จากเวปไซด์ของบริษัท โดยบริษัทจะแจ้งให้พนักงานทราบหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่สำคัญ พนักงานทุกคนจะได้รับการอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ตระหนักถึงนโยบายดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะรูปแบบต่างๆของการคอร์รัปชั่น ความเสี่ยงจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการคอร์รัปชั่น ตลอดจนวิธีการรายงานกรณีพบเห็นหรือสงสัยว่ามีการคอร์รัปชั่น และบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้



    Copyright © 2020 Beyond Securities Public Company Limited. All rights reserved. | นโยบายความเป็นส่วนตัวและนโยบายการใช้คุกกี้